บทความ
KHEMANUT SRIPROMPHUT
บทความ : ความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตและศิลปะด้านใน / ต้องการรับคำปรึกษา / การสอนติดต่อ contact me
บทความที่ 1 การประยุกต์ใช้ศิลปะด้านใน (inner art) ในกลุ่มวัยรุ่นตอนต้น
ดร.รูดอร์ฟ สไตเนอร์
นักปฏิรูปสังคม
และสถาปนิกชาวออสเตรีย
มีชื่อเสียงในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19
ครูมอส อนุพันธ์พฤกษ์พันธ์ขจี
กระบวนการใช้ศิลปะด้านใน (inner art)
ศิลปะด้านใน(Inner art) ได้พัฒนามาจากแนวคิดมนุษยปรัชญา รูดอร์ฟ โยเซ็ฟ โลเร็นทซ์ สไตเนอร์ (Rudolf Joseph Lorenz Steiner) เป็นนักปรัชญา นักปฏิรูปสังคม และสถาปนิกชาวออสเตรีย มีชื่อเสียงในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 รูดอร์ฟ ไตเนอร์ เกิดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1861 ณ เมือง Kraljevec เขตชายแดนของประเทศ ออสเตรีย-ฮังการี ปัจจุบันอยู่ในโครเอเชีย เขาจึงเติบโตทั้งในส่วนของยุโรปฝั่งตะวันออกบรรจบฝั่งตะวันตก ซึ่งในเวลานั้น สังคมเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้เขาคุ้นเคยทั้งวิถีชีวิตในธรรมชาติและเทคโนโลยีสมัยใหม่
แนวคิดมนุษยปรัชญาที่ถือกำเนิดจากรูดอร์ฟ ได้สร้างมิติใหม่ขึ้นในแทบทุกด้านของชีวิตซึ่งนำเสนอทางออกในการแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา (Waldorf) การศึกษาบำบัดสำหรับเด็กพิเศษ (Camphill) เกษตรกรรมระบบชีวพลวัต (biodynamic) การแพทย์แผนมนุษยปรัชญา ศิลปะ สถาปัตยกรรม เศรษฐศาสตร์ เภสัชกรรม วิทยาศาสตร์ ศาสนา (Christian Community) และยูริธมี่ เขาใช้เวลาในการเผยแพร่แนวคิดนี้ โดยการปาฐกถาอรรถาธิบาย ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1900-1925 รูดอร์ฟได้เดินทางไปบรรยายตามที่ต่าง ๆ ในยุโรปมากกว่า 6,000 ครั้ง เขียนหนังสืออีกหลายสิบเล่ม และให้คำแนะนำปรึกษาแก่ผู้คนต่าง ๆ มากมายนับไม่ถ้วน แนวคิดของรูดอร์ฟ สไตเนอร์ นี้ได้มีการถ่ายทอดจากรุ่นสูุ่รุ่นและยังประโยชน์ต่อผู้คนโดยไม่แบ่งเผ่าพันธ์เชื้อชาติ จึงมีคุณค่าต่อทั้งมนุษยชาติและต่อโลกใบนี้ ในปัจจุบันแม้เวลาผ่านมาเกือบ 100 ปี แนวคิดมนุษยปรัชญาของ รูดอร์ฟ สไตเนอร์ ก็ยังคงได้รับความนิยมและการยอมรับเนื่องจากสามารถนำมาปรับใช้ในบริบทต่าง ๆ ได้ดี แนวคิดมนุษยปรัชญาของรูดอร์ฟ สไตเนอร์จึงเปรียบได้ดั่งเทียนที่ส่องแสงสว่างต่อเทียนเล่มแล้วเล่มเล่านำทางให้แก่ผู้คนตราบนานเท่านานจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
แนวคิดมนุษยปรัชญาในประเทศไทยได้ถูกพัฒนามาเป็นศิลปะด้านใน (inner art) โดย ครูมอส นายอนุพันธ์ พฤกษ์พันธ์ขจี เจ้าของสตูดิโอ Art inne rplace และผู้อำนวยการโรงเรียนหลังเขา ผู้ที่เป็นทั้งศิลปิน เป็นครู นักประพันธ์ และนักศิลปะบำบัด ครูมอสจบการศึกษาด้านศิลปะบำบัดในแนวคิดมนุษยปรัชญาจากประเทศเยอรมัน ต่อมาครูมอสได้เป็นผู้ริเริ่มโครงการหลักสูตรวิทยากรต้นแบบศิลปะด้านใน (inner art) สนับสนันทุนโดย สสส. โดยในโครงการได้มีการสร้างวิทยากรต้นแบบศิลปะด้านในอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 เริ่มต้นพัฒนารูปแบบเพื่อใช้ในการส่งเสริม ครูอนุบาล ครอบครัวและเด็ก ปัจจุบันได้มีการพัฒนาไปปรับใช้ในบริบทต่าง ๆ และในทุกกลุ่มวัย โดยมีเครือข่ายทั่วประเทศ สามารถติดตามความรู้เกี่ยวกับศิลปะด้านในโดยครูมอสได้ที่เว็บไซต์ Hook : https://hooklearning.com/teacher/moss/
สำหรับการใช้ศิลปะด้านใน (Inner art) ของผู้เขียน ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรวิทยากรต้นแบบศิลปะด้านใน ในปี พ.ศ.2562 ต่อมาในปี 2563 ในคลินิกสุขภาพจิตและจิตเวช โรงพยาบาลเขาสุกิม ผู้เขียนได้นำแนวคิดศิลปะด้านใน มาประยุกต์ใช้ร่วมกับการทำจิตบำบัดและการให้คำปรึกษาในกลุ่มเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิต โดยกิจกรรมที่ใช้บ่อย ๆ คือ กิจกรรมระบายสีน้ำ ผลตอบรับเป็นที่หน้าพอใจ คือ เด็กที่ได้รับการส่งเสริมมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นมีอารมณ์ดีอ่อนโยนมากขึ้น หลังจากที่ผู้เขียนได้ลาออกจากราชการ และมาทำงานที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ได้นำศิลปะด้านในมาประยุกต์ใช้ในเด็กวัยเรียน โรงเรียนระดับประถมศึกษาในเขตเทศบาล อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ในปีการศึกษา 2566 โดยการเป็นวิทยากรในโครงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางใจในโรงเรียน มีการจัดกิจกรรมจำนวน 8 ครั้ง มีผลลัพธ์ที่ดีสามารถช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งทางใจในนักเรียนได้ ภาวะซึมเศร้าในนักเรียนลดลง ในปีการศึกษา 2567 ได้เป็นวิทยากรในโครงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางใจในโรงเรียน ซึ่งได้เปลี่ยนเป็นกลุ่มเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ในเขตเทศบาล อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี (ไม่ได้จัดโครงการในระดับประถมศึกษาในปี 2566 เนื่องจากจำนวนนักเรียนน้อยจึงไม่ได้งบประมาณแต่มีแผนดำเนินโครงการร่วมกับนักเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ปีงบประมาณ 2568 ) มีผลลัพธ์ที่ดีสามารถช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งทางใจในนักเรียน ภาวะซึมเศร้าลดลงได้
แต่อย่างไรก็ตาม นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นนั้นเป็นกลุ่มวัยรุ่นตอนต้น (early adolescent) อายุช่วง 10-14 ปี เป็นกลุ่มวัยที่มีปัญหาซับซ้อน การส่งเสริมสุขภาพจิตร่วมกับการดูแลในเรื่องปัญหาสุขภาพจิต ยังพบว่ามีปัญหาที่เกิดทั้งจากภายใน เช่น อารมณ์ วิธีการจัดการตนเอง ปัญหาภายนอก เช่น ครอบครัวหย่าร้าง ครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง ของตัวนักเรียนเองจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีภาคีเครือข่ายร่วมมือกันในช่วยเหลือ ดูแลและส่งเสริมในด้านสุขภาพจิตในระยะยาวต่อไป
ทั้งนี้ตัวโปรแกรมที่ใช้เป็นการรูปแบบของศิลปะด้านในมาประยุกต์ร่วมกับการใช้ศิลปะบำบัด (Art therapy) แปลภาพ , เทคนิคการบำบัดทฤษฎี satir model (verginia satir) และ เทคนิค CBT (cognitive behavier therapy) โดยมีการจัดกิจกรรม 8 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1
การเริ่มทำความรู้จักด้วยวงกลม แนะนำตัวคุณครู และเด็กนักเรียน พูดคุยสร้างความคุ้นเคย
ร้องเพลงยามเช้า ตามแนวทางของศิลปะด้านในเพื่อความรู้สึกสบายใจ และสอบถามข้อมูลอื่นๆ หลังจบกิจกรรมกลุ่มแล้ว
ครั้งที่ 2
ร้องเพลงตามแนวทางของศิลปะด้านในเพื่อให้มีความตื่นตัว มีความรู้สึกสบายใจ มีสุนทรียภาพ
การวาดภาพวงกลมด้วยสีน้ำ เพื่อให้เด็กๆ คุ้นเคยกับการใช้สีน้ำและกระดาษ สามารถวาดรูปได้โดยไม่มีความรู้สึกกังวล วงกลมแสดงสีโทนร้อนและมีความสว่าง โดยมีพื้นเป็นสีน้ำเงิน เพื่อเน้นการรับรู้ภายในถึงความสว่าง ความมีคุณค่าของตัวตนของเด็กนักเรียนผู้วาด
ครั้งที่ 3
ร้องเพลงตามแนวทางของศิลปะด้านในเพื่อให้มีความตื่นตัว มีความรู้สึกสบายใจ มีสุนทรียภาพ
วาดภาพต้นไม้ ด้วยสีน้ำ ต้นไม้แสดงลักษณะพื้นดินสีน้ำตาลที่มีความเป็นธาตุดิน ความหนักแน่นมั่นคง การเติบโตของต้นไม้จากดินทำให้เกิดการรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง การเติบโตของเด็ก ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมั่นคงเช่นกัน
ครั้งที่๔
ร้องเพลงตามแนวทางของศิลปะด้านในเพื่อให้มีความตื่นตัว มีความรู้สึกสบายใจ มีสุนทรียภาพ
วาดฉันมาจากดวงดาว ด้วยสีไม้ ดวงดาวเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดขึ้นของเด็กๆ เพื่อ
การรับรู้ความมีคุณค่าในการเกิดมาก มีความมั่นคงในจิตใจมากขึ้น ว่าการเกิดครั้งนี้เป็นสิ่งที่เกิดอย่างมีเหตุผล และเป็นเจตน์จำนงค์ของจิตวิญญาณ ซึ่งท้ายที่สุดนั้นเจตน์จำนงค์อิสระคือความสามารถในการเลือกที่จะเป็นได้ของจิตวิญญาณ
บทความโดย อาจารย์เขมณัฏฐ์ ศรีพรหมภัทร์ สาขาการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
ครั้งที่๕
ร้องเพลงตามแนวทางของศิลปะด้านในเพื่อให้มีความตื่นตัว มีความรู้สึกสบายใจ มีสุนทรียภาพ
วาดภาพตัวเองด้วยสีไม้ เป็นการรับรู้ความคิดความรู้สึกความคิดที่มีต่อตัวเอง การได้อยู่กับตัวเอง ทำให้สามารถคิดถึงเข้าใจยอมรับตนเองและรอบข้างได้มากขึ้น
ครั้งที่๖
ร้องเพลงตามแนวทางของศิลปะด้านในเพื่อให้มีความตื่นตัว มีความรู้สึกสบายใจ มีสุนทรียภาพ
จัดดอกไม้ที่เด็กนักเรียนนำมาเอง ทางโรงเรียนจัดเตรียม และดอกไม้ใบหญ้ารอบๆ ในรั้วโรงเรียน การจัดดอกไม้เป็นการเรียนรู้ที่จะเห็นความงามของธรรมชาติ เรียนรู้การเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ การเห็นคุณค่าสิ่งที่รายล้อมตัวเอง และเห็นว่าต้องดูแลรักษาธรรมชาติ ร่วมทั้งเป็นการกลับมาเข้ามาสู่ภายในตัวเองด้วยความอ่อนโยนในระหว่างการจัดดอกไม้
ครั้งที่๗
ร้องเพลงตามแนวทางของศิลปะด้านในเพื่อให้มีความตื่นตัว มีความรู้สึกสบายใจ มีสุนทรียภาพ
ทำชนมบัวลอย การทำขนมบัวลอยในเด็กสร้างสมาธิ การเรียนรู้ที่จะทำงานเป็นทีม มีความภาคภูมิใจในผลงานที่ตนเองได้ร่วมกัน เกิดการผูกพันกับกลุ่มนักเรียน คุณครูและโรงเรียน เด็กนักเรียนมีความอ่อนโยนมากขึ้น
ครั้งที่๘
ร้องเพลงตามแนวทางของศิลปะด้านในเพื่อให้มีความตื่นตัว มีความรู้สึกสบายใจ มีสุนทรียภาพ
เขียนสรุปสิ่งที่ได้รับและความรู้สึกในการเข้าร่วมกระบวนการ
จุดเทียนอธิษฐานปิดคอร์ส และสอบถามข้อมูลอื่นๆ หลังจบกิจกรรมกลุ่มแล้ว
ผู้เขียนบทความและออกแบบโปรแกรมประยุกต์ใช้ศิลปะด้านใน
อาจารย์เขมณัฏฐ์ ศรีพรหมภัทร์
สาขาการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
วันที่เขียนบทความ 30 กันยายน 2567
อ้างอิงจาก
https://anthrothailand.wordpress.com/rudolf-steiner/
อนุพันธ์ พฤกษ์พันธ์ขจี. (2024) ศิลปะด้านใน(Inner art) Retrieved September 17, 2024 from
https://hooklearning.com/teacher/moss/
บทความที่ 2 การประยุกต์ใช้ศิลปะด้านใน (inner art) ในกลุ่มวัยทำงาน
บทความที่ 3 การประยุกต์ใช้ศิลปะด้านใน (inner art) ในกลุ่มผู้เสพสารเสพติด